ปราสาทนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

  • อ่าน (5,154)
  • ByWebmaster
  • 15:11:38 | 13 ก.ค. 2564

ปราสาทนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

Prasat Nakhon Luang, Ayutthaya Province, Thailand

             ปราสาทนครหลวง (Prasat Nakhon Luang) อีกหนึ่งโบราณสถานทรงคุณค่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันออก อำเภอนครหลวงโบราณสถานแห่งนี้ในประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่าพระมหากษัตริย์แทบทุกพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้เสด็จผ่านและเคยเสด็จมาประทับที่นี่


ประวัติ

             ปราสาทนครหลวง เริ่มสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยทรงโปรดให้ช่างไปถ่ายแบบมาจากปราสาทเมืองพระนครหลวง (อังกอร์) ประเทศกัมพูชา เพื่อเป็นที่พักร้อนก่อนที่จะเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ปราสาทนครหลวงสร้างไม่แล้วเสร็จในสมัยนั้น ต่อมาราวปี พ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่น ได้สร้างวัดนครหลวงขึ้นโดยเอาปราสาทนครหลวง เข้าไปไว้ในเขตของวัดด้วย และมีการสร้างพระพุทธบาทสี่รอย ประดิษฐานไว้บนลานชั้นบนของปราสาท

             การบูชาพระพุทธบาทสี่รอยเป็นคตินิยมของชาวพุทธฝ่ายหินยาน ซึ่งแพร่หลายอยู่ในอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรพุกามในสหภาพพม่า  พระพุทธบาทสี่รอยเป็นสัญลักษณ์ให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ล่วงมาแล้ว 4 พระองค์ คือ พระกกุกสันโธ พระโกนาคม  พระกัสสป  แลพระสมณโคดม

             จากการดำเนินงานทางโบราณคดี ได้พบว่าวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการสร้างปราสาท เป็นการสร้างเพื่อให้เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา มิใช่ที่ประทับระหว่างทางในการเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทดังที่เข้าใจกันมาแต่เดิม ปราสาทนครหลวง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติในชื่อ “พระนครหลวง”

             โบราณสถานปราสาทนครหลวง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ตัวปราสาทพระนครหลวง และศาลาพระจันทร์ลอย ซึ่งร่องรอยพระตำหนักที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


ปราสาทพระนครหลวง
 เป็นอาคารก่ออิฐสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นแรกมีขนาด 81 x 94 เมตร สูงจากพื้นเดิน 4 เมตร ชั้นที่สองขนาด 67 x 75 เมตร สูงจากพื้นชั้นแรก 4 เมตร เช่นเดียวกัน ชั้นที่สามขนาด 46 x 48 เมตร สูงจากพื้นชั้นที่สูง 3.5 เมตร จากการขุดแต่งเพื่อการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2534 พบว่าแกนในของฐานแต่ละชั้นก่อด้วยดินอัดแน่นจนถึงพื้นแล้วก่ออิฐเป็นเอ็นยึดขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร สานกันเป็นแฉกทั่วพื้นที่ตรงมุมและทิศทั้ง 4 ที่ระเบียงคดทุกชั้นทำเป็นปรางค์  บริวารชั้นแรกมี 10 องค์ ชั้นที่สอง 12 องค์ และชั้นที่สาม 8 องค์  รวมทั้งสิ้น 30 องค์  ลักษณะปรางค์แต่ละองค์มีแบบแปลนแผนผังเหมือนๆ กัน คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 8.4 เมตร ย่อมุมไม้ยี่สิบ  ก่อเป็นฐานเขียง 2 ชั้น แล้วขึ้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่คู่รองรับเชิงบาตรและตัวเรือนธาตุตามลำดับ ส่วนยอดทำเป็นชั้น 5 ชั้น ภายในองค์ปรางค์ประดิษฐานพระพุทธรูปปรางค์ละ 2 องค์ ยกเว้นปรางค์หมายเลข 7, 18 และ 26 ที่ต้องใช้เป็นเนื้อที่ของประตู

             ระเบียงคด  อาคารเชื่อมต่อระหว่างปรางค์ของแต่ละชั้นก่อผนังด้านนอกตัน แต่ทำช่องหน้าต่างปลอมเลียนแบบช่องลูกมะหวดคล้ายศิลปะสถาปัตยกรรมที่นิยมทำกันในเขมร สมัยนครวัด ช่วงฐานก่อล้อกับการขึ้นรูปของฐานปรางค์ คือ  ทำเป็นฐานเขียง 2 ชั้น  แล้วขึ้นฐานลูกแก้วอกไก่ ส่วนผนังด้านในก่อโปร่งทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมปาดมุม ปลายเสาเป็นบัวหงาย มีหน้ากระดานรองรับระหว่างช่วงเสาก่อกำแพงหลังเจียดเตี้ยๆ โดยตลอด หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผาแบบลอนโค้ง ด้านนอกลด 2 ตับ  ด้านในลด 3 ตับ  ภายในระเบียงมีฐานชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งหันพระพักตร์สู่องค์ปรางค์ประธานทุกด้านทุกชั้น

             ประตูทางเข้าขึ้นบนปราสาท ชั้นแรกมี 9 ประตู ชั้นที่สอง 12 ประตู และชั้นบน อีก 9 ประตู รวมทั้งสิ้น 30 ประตู

             ท่อระบายน้ำ ทำเป็นช่องสามเหลี่ยมสำหรับน้ำไหลลงพื้นข้างล่าง รวม 40 จุด

             มีหลักฐานอยู่หลายประการ เช่น การฉาบปูนที่ผนังปรางค์และระเบียงเพียงการรองพื้นบางๆ ยังไม่ได้ตบแต่งฉาบผิวบันไดทางขึ้นบางแห่งยังไม่ได้ก่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาในปี พ.ศ. 2421 ทรงพระราชนิพนธ์ถึงปราสาทแห่งนี้ว่า “…คงสร้างไม่แล้วเสร็จเป็นแน่  จนบันไดก็ได้ก่อบ้างไม่ได้ก่อบ้างเป็นแต่ชักอิฐไว้  ตัวปรางค์กลางนั้น เห็นจะยังไม่ได้ก่อขึ้นเป็นแน่…” ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างปราสาทนครหลวงไม่แล้วเสร็จ

             พระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองแวะประทับสำราญพระราชอิริยาบถ เวลาเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราชลมารคเมื่อถึงเทศกาลนบพระพุทธบาทนั้น ปัจจุบันคือสถานที่บริเวณศาลาพระจันทร์ลอยซึ่งตั้งอยู่ถัดท่าน้ำเข้าไปเพียงเล็กน้อย จากงานขุดแต่งขุดค้นสถานที่แห่งนี้พบว่า อาคารจัตุรุมุขได้สร้างทับซ้อนลงบนอาคารพื้นปูอิฐ หลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งน่าเชื่อถือว่าเป็นศาลาโถงที่ประทับชั่วคราวของขบวนเสด็จพยุหยาตราของพระเจ้าปราสาททอง


ศาลาพระจันทร์ลอย
 เป็นอาคารทรงจัตุรมุขลงบนสถานที่ที่เชื่อว่าเดิมคือ พระตำหนักนครหลวงของพระเจ้าปราสาททอง ศาลาหลังนี้สร้างขึ้นประดิษฐานพระจันทร์ลอย (แผ่นหินรูปกลมคล้ายเสมาธรรมจักร  แกะจากหินแกรนิต ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.35 เมตร  หนา 20 เซนติเมตร ด้านหน้าตอนบน แกะสลักพระพุทธรูปนูนต่ำ ขนาดเล็กจำนวน 3 องค์  และเจดีย์ด้านข้างพระพุทธรูปอีกด้านละองค์  ด้านล่างแกะลาย  ตรงกลางลายทำเป็นรูปภาพต่างๆ ที่พอมองเห็นได้ชัดคือรูปปลา 2 ตัว นอกนั้นค่อนข้างลบเลือนมองไม่ชัด)

             ชาวบ้านเล่าขานกันว่าแผ่นหินพระจันทร์ลอยนี้ เดิมทีลอยน้ำมาตามแควป่าสัก มีผู้พบเห็นครั้งแรกที่บ้านศิลาลอย ตำบลศาลาลอย อำเภอท่าเรือ ประชาชนในท้องถิ่นนั้นได้พยายามนำขึ้นจากน้ำแต่ไม่สามารถฉุดขึ้นได้  แผ่นหินจึงลอยน้ำเรื่อยมาจนถึงวัดเทพจันทร์ ชาวบ้านก็ได้ช่วยกันลงไปฉุดเพื่อจะนำไปไว้ที่วัด แต่ก็ทำไม่สำเร็จ สมภารวัดเทพจันทร์ผู้เรืองวิชามีอาคมในย่านนั้นรู้เรื่องเข้าจึงนำด้ายสายสิญจน์ 3 เส้น ลงไปคล้องแล้วฉุดขึ้นไปไว้ที่วัดได้โดยง่ายดาย พระจันทร์ลอยจึงได้ประดิษฐานที่วัดนี้อยู่ชั่วระยะหนึ่งจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงมหาดไทยจึงได้นำส่งไปเก็บไว้ที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร

             เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบเรื่องพระปลัดปลื้มบูรณซ่อมแซมแปลงปราสาทนครหลวง ตามหนังสือกระทรวงธรรมาการกราบบังคมทูลแล้ว ทรงมีพระราชกระแสว่า “อนึ่ง พระจันทร์ลอยซึ่งกระทรวงมหาดไทยนำมาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร นั้น ก็ไม่อัศจรรย์อะไร ถ้าให้พระปลัดปลื้มรับกลับไปตั้งไว้ที่วัดพระนครหลวงนี้ คนเห็นจะตื่นกันบูชา เห็นจะเป็นเครื่องนำมาซึ่งทรัพย์สมบัติสำหรับก่อสร้าง ดีกว่าอยู่กรุงเทพฯ ยอมอนุญาตให้นำกลับคืนไป

             พระจันทร์ลอยจึงกลับมาสู่ถิ่นเดิมอีกครั้งหนึ่ง แม้จะไม่ใช่สถานที่เดิมคือ วัดเทพจันทร์ แต่ศาลาพระจันทร์ลอยภายในบริเวณปราสาทพระนครหลวงแห่งนี้ ก็ห่างจากวัดเทพจันทร์เพียงไม่กี่ร้อยเมตร


ร่องรอยทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของปราสาทนครหลวง


ปราสาทนครหลวง เริ่มสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการสร้างปราสาทนั้นเป็นการสร้างเพื่อให้เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา มิใช่ที่ประทับของกษัตริย์


ระเบียงเชื่อมต่อระหว่างปรางค์ของแต่ละชั้น ทำช่องหน้าต่างปลอมคล้ายศิลปะสถาปัตยกรรมที่นิยมทำกันในเขมรสมัยนครวัด


พระพุทธบาทสี่รอย ประดิษฐานอยู่บนลานชั้นบนของปราสาท


การเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจากกรุงเทพมหานคร

             - รถยนต์ (Car/ Bus) การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระยะทาง 80 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที    

             - รถไฟ (Train) การเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที    


การเดินทางไปปราสาทนครหลวง

             ปราสาทนครหลวงตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันออก ที่ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง ห่างจากตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาราว 20 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 25 – 30 นาที


เวลาทำการเปิด– ปิด

             เปิดทุกวัน เวลา 6.00 – 18.00 น.


อัตราค่าเข้าชม

             ไม่เสียค่าเข้าชม


บรรยากาศโดยรอบปราสาทนครหลวง


สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเที่ยว

             ชมร่องรอยทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของปราสาทนครหลวง และศาลาพระจันทร์ลอย อาคารทรงจัตุรมุขบนสถานที่ที่เชื่อว่าเดิมคือ พระตำหนักนครหลวงของพระเจ้าปราสาททอง


ปราสาทนครหลวงมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น


รอยพระพุทธบาท


มอม เป็นสัตว์ในจินตนาการ รูปร่างคล้ายราชสีห์ผสมมังกร มักปั้น​เพื่อใช้ประดับพุทธสถาน 


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

             ตลอดทั้งปี


             
นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชม ปราสาทนครหลวง สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                         ปราสาทนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

                         (Prasat Nakhon Luang, Ayutthaya Province, Thailand)

                         ระดับความนิยม :

                         อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม   

                         เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 6.00 – 18.00 น.

                         ตั้งอยู่ที่ : ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

                         โทรศัพท์ : -

                         เว็บไซต์ : -

                         ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com

                                         เว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา http://ww2.ayutthaya.go.th/frontpage

                                         เฟซบุ๊คการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา https://www.facebook.com/TatAyutthaya/

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สวนสาธารณะเทศบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย

สวนสาธารณะเทศบาลโพธาราม (Muang Photharam Municipal Public Park) เป็นสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ริมเขื่อนแม่น้ำแม่กลองในอำเภอโพธาราม ภายในสวนมีบรรยากาศร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ และยังมีส่วนของจุดชมวิว สนามหญ้า ทางวิ่งออกกำลังกาย ลานกีฬา เครื่องออกกำลังกาย และสนามเด็กเล่น สวนสาธาณะแห่งนี้เหมาะกับคนทุกวัยที่ต้องการมาเดินเล่น พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และชมวิวแม่น้ำแม่กลองที่เป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดราชบุรี และที่นี่ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานกิจกรรมและงานประเพณีต่างๆ ของเมืองโพธารามอีกด้วย

อ่านต่อ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี (Ratchaburi National Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์จากการใช้ศาลากลางหลังเก่าของจังหวัดราชบุรีมาก่อตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อาคารแห่งนี้เป็นอาคารเก่าแก่ที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงามและอยู่คู่กับจังหวัดราชบุรีมาอย่างนาวนาน และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติอีกด้วย ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีมีนิทรรศการท้องถิ่นที่น่าสนใจของจังหวัดราชบุรีให้เที่ยวชม โดยจัดแสดงเรื่องราวทางสภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ชนเผ่าชาติพันธุ์วิทยา มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และบุคคลสำคัญ ไปจนถึงคลังโบราณวัตถุที่หาชมได้ยากตั้งแต่เครื่องปั้นดินเผาไปจนถึงพระพุทธรูปในยุคต่างๆ

อ่านต่อ

น้ำตกเก้าชั้น จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย

น้ำตกเก้าชั้น (Kaew Chan Waterfalls) เป็นน้ำตกกลางหุบเขาที่มีความสูง 9 ชั้น โดยแต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันไป ชั้นที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุดคือบริเวณชั้นที่ 6 น้ำตกเก้าชั้นสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เพราะมีน้ำไหลทุกฤดูกาล โดยจะมีน้ำมากที่สุดและสวยที่สุดในช่วงฤดูฝน เพราะจะมองเห็นสายน้ำตกสีขาวขนาดใหญ่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงท่ามกลางป่าไม้อันเขียวขจีและเสียงของน้ำตก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจที่ได้รับความนิยมอีกแห่งหนึ่งของอำเภอสวนผึ้ง

อ่านต่อ

ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย

ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก (Lao Tuk Luck Floating Market) เป็นตลาดน้ำแห่งแรกของจังหวัดราชบุรีที่ก่อตั้งขึ้นมาก่อนตลาดน้ำดำเนินสะดวก มีลักษณะเป็นตลาดน้ำขนาดย่อมที่ตั้งอยู่บนเรือนไม้ริมน้ำที่ชุมชนชาวไทย-จีนอาศัยอยู่ ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักมีบรรยากาศเรียบง่ายและคลาสสิก แต่มีความพลุกพล่านน้อยกว่าตลาดน้ำดำเนินสะดวก การเดินทางก็แสนง่าย แค่เพียงแค่ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำจากฝั่งตลาดน้ำดำเนินสะดวกมายังฝั่งตรงข้าม ก็จะได้พบกับเรือนไม้โบราณของชุมชนชาวจีนและลำคลองที่ตัดผ่าน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอาหารทานง่ายอร่อยๆ ให้เลือกมากมาย และมีมุมถ่ายรูปสวยๆ ให้เก็บความประทับใจ นอกจากนี้ในวันหยุดจะมีเสียงดนตรียุค 80 คลอเคล้าสร้างความเพลิดเพลินในการเดินตลาดอีกด้วย

อ่านต่อ

ตลาดน้ำอโยธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

ตลาดน้ำอโยธยา (Ayothaya Floating Market) ตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองเก่าแห่งนี้

อ่านต่อ

วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

วัดราชบูรณะ (Wat Ratchaburana) อนุสรณ์สถานแห่งการแย่งชิงราชบัลลังค์ เป็นอีกหนึ่งในวัดที่ใหญ่ และเก่าแก่มากที่สุดในพระนครศรีอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา เมื่อปี พ.ศ. 1967

อ่านต่อ

วัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

วัดมเหยงคณ์ (Wat Mahaeyong) อดีตพระอารามหลวง และกลายเป็นวัดร้างไปภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2310 ปัจจุบันวัดแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นสถานปฏิบัติธรรม ใจกลางโบราณสถานที่เก่าแก่ของอยุธยาอีกด้วย

อ่านต่อ

10 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย

จังหวัดนครสวรรค์ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางตอนบน เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมของไทย อีกทั้งยังได้รับสมญานามว่าเป็นประตูสู่ภาคเหนือ และเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ จังหวัดนครสวรรค์จึงมีทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงาม และมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายโดยเฉพาะวัดและตลาดที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวนครสวรรค์ได้เป็นอย่างดี วันนี้ทาง Palanla จึงได้รวบรวม 10 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดนครสวรรค์มาฝากทุกท่านกันในบทความนี้

อ่านต่อ

หอชมเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย

หอชมเมืองนครสวรรค์ (Nakhon Sawan Observation Tower) เป็นหอชมเมืองที่ตั้งอยู่บนเขาคีรีวงศ์ จุดชมวิวจะตั้งอยู่บริเวณชั้น 10 ของหอชมเมืองซึ่งสามารถชมวิวเมืองนครสวรรค์จากมุมสูงได้โดยรอบ และมองเห็นทิวทัศน์ของธรรมชาติที่อยู่ไกลออกไปได้อย่างเต็มตา นอกจากนี้บริเวณชั้น 1 ยังมีร้านขายของที่ระลึกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นให้เลือกซื้ออีกด้วย หอชมเมืองนครสวรรค์จึงเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของเมืองปากน้ำโพที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

อ่านต่อ

พาสาน อาคารสัญลักษณ์ต้นน้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย

พาสาน อาคารสัญลักษณ์ต้นน้ำเจ้าพระยา (Pasaan, The Headwaters of the Chao Phraya River Symbol Building) ตั้งอยู่บริเวณแหลมเกาะยม ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำปิง วัง ยม น่านมาบรรจบกันและก่อกำเนิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา พาสานถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของนครสวรรค์ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชม เดินเล่น ชมวิว ดูพระอาทิตย์ตกดิน และถ่ายภาพความสวยงามของอาคารและทิวทัศน์แม่น้ำโดยรอบกันอย่างเพลิดเพลิน

อ่านต่อ
สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ